เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[25] บางพวกแสดงตนเป็นพรหม
บางพวกเนรมิตที่จงกรมมีค่ามาก
และเพศพระพรหม แสดงสุญญตธรรม1อยู่
[26] พระเถรีทั้งปวง ครั้นแสดงอิทธิฤทธิ์มีประการต่าง ๆ
แล้วก็แสดงพลังถวายพระศาสดา
ได้กราบพระยุคลบาทของพระศาสดา พลางกราบทูลว่า
[27] ‘ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[28] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[29] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลาย
เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[30] ความพร้อมเพรียงแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
พระองค์ทรงแสดงแล้ว
ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉันทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[31] ข้าแต่พระมหาวีระผู้เป็นพระมุนี
ขอพระองค์ทรงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันทั้งหลายเถิด
หม่อมฉันทั้งหลายสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

เชิงอรรถ :
1 สุญญตธรรม ในที่นี้หมายถึงฌาน (อภิ.วิ. (แปล) 35/323/214,385,245)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :523 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[32] ในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
มีกรุงชื่อว่าหงสวดี เป็นที่อยู่อาศัยแห่งตระกูล
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[33] มีแม่น้ำคงคาไหลผ่านที่หน้าประตูกรุงหงสวดีอยู่ตลอดเวลา
ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนไปไม่ได้เพราะแม่น้ำ
[34] น้ำเต็มตลิ่งอยู่ 1 วันบ้าง 2 วันบ้าง 3 วันบ้าง
1 สัปดาห์บ้าง 1 เดือนบ้าง 4 เดือนบ้าง
ภิกษุเหล่านั้นจึงไปไม่ได้
[35] ครั้งนั้น ชาวแว่นแคว้นผู้หนึ่งมีนามว่าชัชชิยะ
มีทรัพย์เป็นสาระเพื่อประโยชน์แก่ตน เห็นภิกษุทั้งหลาย
จึงได้สั่งให้นายช่างจัดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นที่ฝั่งด้านหน้าเมือง
[36] ครั้งนั้น เขาได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำคงคา
ด้วยทรัพย์หลายแสน
และได้ให้สร้างวิหารถวายสงฆ์ที่ฝั่งด้านตรงกันข้าม
[37] ทั้งสตรี บุรุษ ตระกูลสูง และตระกูลต่ำเหล่านั้น
ได้ร่วมกันสร้างสะพานและวิหารเท่า ๆ กันกับนายชัชชิยะนั้น
[38] หม่อมฉันทั้งหลายและหมู่มนุษย์เหล่าอื่น
ในนครและในชนบทล้วนมีจิตเลื่อมใส
เป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[39] ทั้งสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงจำนวนมากด้วยกัน
ต่างก็ช่วยกันเกลี่ยทรายลงที่สะพานและที่วิหาร
[40] กวาดถนน แล้วตั้งต้นกล้วย
หม้อน้ำซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมและปักธงขึ้น
จัดธูป จุรณและดอกไม้สักการะพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :524 }